กระดานเรื่องราวนี้ เขียนมาจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวผม ผมหวังว่าอย่างน้อยข้อคิดเล็กๆ เพียงหนึ่งกิ่งก้านความทรงจำ ในเค-เจ เม็มโมรี่นี้ จะมีส่วนสร้างความรู้สึก และย้ำนึกความทรงจำดีๆ ช่วยแผ่กิ้งก้านความคิด ความทรงจำในจิตใจของของทุกคนที่ได้อ่าน หรืออย่างน้อยก็ช่วยสร้างความทรงจำดีๆ ให้แก่ทุกคนได้บ้างเท่านั้น
Saturday, 16 August 2008
การรักของ
วิธีการสอนให้พวกผม (ผมและพี่ๆ) รักของก็คือ อาม้ามักจะให้พวกเราร่วมเป็นเจ้าของสิ่งของนั้นๆด้วยเสมอ ไม่ว่าของนั้นจะเล็กหรือใหญ่ หรือมีราคาค่างวดเพียงใดก็ตาม ตั้งแต่วิทยุยันรถยนต์เลย เช่น ตอนที่พวกเราอยากได้วิทยุ อาม้าอาปาจะออกเงินส่วนใหญ่ให้ ส่วนพวกเราก็ต้องเอาเงินเก็บของพวกเรามาสมทบด้วย แค่นี้ ของชิ้นนั้นๆ ก็เป็นของที่เราเป็นเจ้าของร่วม เพราะร่วมออกเงินซื้อด้วยแล้ว
แค่นี้มันก็เป็นการปลูกฝังนิสัยการรักของให้กับผมโดยไม่รู้ตัวแล้ว
การเปลี่ยนรถใหม่
ผมนั่งรถกลับบ้านพร้อมกับอารมณ์เศร้าอยู่พักใหญ่ใจหายน่ะครับ สักพักอาม้าก็โทรมาถามว่า "ใจหายไหม ตอนให้รถเขาไป"
ก็เลยตอบไปว่า "นิดหน่อย"
อาม้าเลยว่า "ไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวเรียนกลับมาก็ซื้อใหม่แล้วกันนะ"
ก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่คิดว่าอาม้าคงเข้าใจความรู้สึกผมเป็นอย่างดี เพราะอาม้าก็เป็นคนที่รักของเช่นกัน
ตลอดระยะเวลาที่นั่งรถกลับผมพยายามทำใจเรื่องนี้อยู่ ความทรงจำก็ผุดขึ้นมาว่า อาปาเคยสอนว่า "การที่เราขายรถน่ะ แน่หละมันใจหายที่ต้องเสียรถของเราไป แต่ให้คิดว่าการเปลี่ยนรถก็เหมือนการเปลี่ยนเสื้อ เมื่อมันเก่ามันขาดเราก็ต้องทิ้ง หรือแปลสภาพมันไป แล้วเอาเสื้อใหม่มาใส่แทน"
ผมจะพยายามคิดเช่นนั้นครับ
Sunday, 10 August 2008
อุปัทวเหตุบนท้องถนน
- ครั้งนึงตอนผมอยู่ชั้น ป. 5 รถยนต์ที่ผมนั่ง พ่อผมเป็นคนขับประสบอุปัทวเหตุบริเวณถนนสายเอเซีย ก่อนเข้าจังหวัดอยุธยา มีคนเสียชีวิตด้วย แต่ผมไม่เป็นไร
- ครั้งต่อมาช่วงผมอยู่ ม. 3 ขณะรถบัสที่นั่งเพื่อไปออกค่ายลูกเสือที่ค่ายวชิราวุธ ประสบอุปัทวเหตุ หักหลบตกลงคูข้างทาง พวกผมต้องอยู่นิ่งๆ และค่อยๆย่องมาออกทางท้ายรถ ครั้งนี้ก็ไม่มีใครบาดเจ็บ
- ครั้งต่อมาตอนจบ ม.6 ขณะที่ผมกับเพื่อนนั่งรถตู้กลับจากหาดใหญ่มาที่ตรัง มีรถขับย้อนศรมา รถตู้หักหลบลงข้างทาง ดีนะที่ไม่พลิกคว่ำ ครั้งนี้ก็โชคดีที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ
ดังนั้น การขับรถบนท้องถนน เราต้องมีสติ และมีสมาธิจดจ่อกับการขับรถด้วยเสมอ ดังที่พ่อผมสอนนั่นแหละ ว่า "คนขับรถเก่งน่ะ ไม่มีหรอก เพราะว่าไม่ว่าจะเรียกตนว่าเก่งขนาดใหญ่ ถ้าประมาทอุปัทวเหตุก็เกิดขึ้นได้เสมอ"
ป.ล. อาจมีคนสงสัยว่าทำไม่ผมใช้อุปัทวเหตุ ก็เพราะคำที่ถูกต้องของ accident ก็คือ อุปัทวเหตุ ส่วนอุบัติเหตุนั้น ตรงกับภาษาอังกฤษว่า incident ก็เลยอยากเลือกใช้คำนี้ หาได้มีเหตุผลอื่นหรอก
My Altis
รถของผมเป็นรถอัสติส สีบรอนซ์ทอง ทะเบียน วก 3108 เป็นรถคันแรกในชีวิตที่ผมมีไว้เป็นส่วนตัว รถคันนี้ออกมาเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2001 รวมแล้วรถคันนี้อยู่กับผมมาเกือบ 7 ปีเต็ม ประสบการณ์มากมายที่เกิดขึ้นกับผม พร้อมๆ กับรถคันนี้ที่ผมยังจดจำได้ดี
- ราวๆ ปี พ.ศ. 2546 (2003) ล้อรถคันนี้ถูกตะปูตำ ยางแบน ขณะที่ผมไปจอดเพื่อทำบุญที่วัดญาณเวศกวัน จังหวัดนครปฐม ทำให้ผมมีชะตาต้องกับวัดนี้ตั้งแต่วันแรกที่ได้มาเยือน และต่อมาผมก็ได้เข้าอุปสมบทที่วัดแห่งนี้ ในปีต่อมา (2004) และพี่ผมก็ได้เข้าอุปสมบทในวัดนี้ในปีถัดมา (2005) โดยมีท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) หรือพระธรรมปิฎก ในขณะนั้นเป็นพระอุปัชฌาย์ และต่อมาท่านเจ้าคุณก็ได้ตั้งนามสกุลให้กับครอบครัวเราว่า "ชยางคกุล"
- ราวๆ เดือนเมษายน 2548 (2005) ผมขับรถไปยังอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เพื่อออกค่ายอาสาที่บ้านห้วยน้ำหนัก ขากลับผมกลับขับรถหลง แทนที่จะเดินทางกลับที่ตัวเมืองราชบุรีผมพร้อมอัลติสคันนี้กลับเดินทางมุ่งออกไปยังชายแดนพม่า ผ่านทั้งเขาแล้วเขาเล่าทั้งห้วยแล้วห้วยเล่า จนไม่มีสัญญาณโทรศัพท์จนเสียวสันหลังวาบ กลับตัวแทบไม่ทัน กลับรถแทบหลังหักก็อีตอนเห็นป้ายชายแดนไทย-พม่า
- หลายครั้งที่ผมห้อรถอัลติสไปพักผ่อนทั้งหัวหิน ชะอำ พัทยา ระยอง นครราชสีมา นครปฐม เพื่อชาร์ตแบตเตอร์รี่ ครั้งนึงราวๆ ปี 2545 (2002) ห้อเร็วเสียจนโดนจับความเร็วที่เส้นทางชลบุรี-พัทยา และไม่นับการโดนจับเพราะขับรถผิดกฎจราจรอีกหลายครั้ง เช่น ที่หน้าห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว ที่แยกถนนสุรวงศ์
เพราะรถคันนี้ที่ทำให้ผมมีความสะดวกสบายในการเดินทางมาเกือบ 7 ปี ทั้งการทำงานและพักผ่อน
แม้ว่าที่จริงแล้วผมไม่เคยคิดอยากจะขายรถคันนี้เลย แต่ถ้าเก็บไว้แล้วไม่ได้ใช้ ผลเสียที่ตามมาคงจะมีมากกว่าจริงๆ ต่อไปก็คงขอเก็บความทรงจำที่ดีของรถอัสติสคันนี้ไว้กับตัวเองตลอดไป
Thursday, 7 August 2008
ทัศนคติที่ดี ตอนที่ 3 (ตอนสุดท้าย)
การมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นทัศนคติที่มองว่าคนเราควรมีอิสระ เสรีภาพทางด้านความคิด ไม่จำเป็นต้องเดินตามกรอบที่ตีไว้หากแต่บ่อยครั้งที่เราพบว่าผู้คนมักกล่าวอ้างว่าเป็นการคิดนอกกรอบ แต่ที่จริงแล้ว การคิดนอกกรอบตามนัยที่แท้แล้วอาจมิใช่เพียงการใช้เสรีภาพทางการคิดให้แตกต่างออกไปโดยไม่พิจารณาถึงเหตุที่กรอบนั้นถูกตีขึ้นมาทำให้ความคิดที่เกิดขึ้นนั้นแตกต่างหรือสวนกระแสกับกรอบดังกล่าวไปโดยสิ้นเชิงที่อาจเรียกว่า ขบถทางความคิด หากแต่ที่จริงแล้วการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ต้องเป็นการใช้อิสระ เสรีภาพทางด้านความคิดที่มีพื้นฐานอยู่ที่ความรู้ ความเข้าใจตามสภาพความเป็นจริงที่ปรากฎ โดยไม่ลืมที่จะพิจารณากรอบที่ถูกขีดขึ้นมานั้นด้วย
ประการที่ 5 การประเมินและความคาดหวังต่อศักยภาพของคนอื่น
ความคาดหวังต่อศักยภาพของตนเอง เป็นทัศนคติที่มีฐานมาจากการประเมินถึงศักยภาพของตนเองโดยมีพื้นฐานถึงความเข้าใจ หรือรู้ถึงศักยภาพที่แท้จริงของตนเองหากเราสามารถประเมินศักยภาพของตนเองว่ามีเพียงพอแล้ว ก็ต้องไม่ลืมในการพัฒนาศักยภาพของเราให้สูงขึ้น หรือแม้ว่าเราประเมินได้ว่าศักยภาพของเราไม่เพียงพอ ก็ต้องพยายามในการพัฒนาศักยภาพของเราให้สูงขึ้นเช่นกัน แต่บ่อยครั้งคนเราหาได้ทำเช่นนั้นไม่ หากแต่เมื่อประเมินศักยภาพของตนเองแล้ว แทนที่จะมีการพัฒนาตนเอง กลับไปประเมินศักยภาพของคนอื่น โดยมุ่งหวังที่จะอาศัยศักยภาพของคนอื่นในการเข้ามาจัดการงานของตน ซึ่งเป็นการที่เรานำเอาความสำเร็จของงานไปขึ้นอยู่กับคนอื่น การมีทัศนคติต่อศักยภาพของคนอื่นที่ถูกต้อง จึงควรเป็นไปในแนวทางที่เราจะต้องพัฒนาศักยภาพของตนเองให้สูงพอที่จะทำการของตนให้ลุล่วง จนอาจเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้ด้วย หรือไม่ก็เป็นกรณีที่ตนเองมีศักยภาพ แต่กลับผลักภาระให้ความสำเร็จของงานไปขึ้นกับศักยภาพของบุคคลอื่น โดยลืมไปว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการทำให้บุคคลอื่นพัฒนาศักยภาพมากขึ้นในขณะที่ตนเองกลับถูกทิ้งให้เดินตาหลังผู้อื่นแต่อย่างเดียว
ประการที่ 6 ทัศนคติด้านตรรกะ ในการแก้ปัญหา
ทัศนคติด้านตรรกะในการแก้ปัญหา เป็นทัศนคติซึ่งคนส่วนใหญ่มี และใช้อยู่ตลอดเวลาทุกครั้งที่มีปัญหาเข้ามาในชีวิต โดยตรรกะในการทัศนคติที่ดีในการแก้ปัญหาในที่นี้ คือ การที่เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นแล้วเราสามารถแก้ได้เพียงใด การสาวหาเหตุปัจจัยที่เป็นที่มาของปัญหา บ่อยครั้งที่คนเรามักมองสาเหตุแห่งปัญหาผิดจุด คือ การมองสาเหตุของปัญหาจากจุดไกลมายังจุดใกล้ มองจากภายนอกเข้ามาภายใน ซึ่งที่จริงแล้วการหาเหตุแห่งปัญหาที่ง่ายและเป็นแนวคิดที่ดี ควรเริ่มจากการมองดูที่ตัวเองก่อนว่าเป็นส่วนหนึ่งในการก่อให้เกิดปัญหานั้นขึ้นหรือไม่ แทนที่พยามหาว่าอะไร หรือใครเป็นสาเหตุแห่งปัญหานั้น อีกทั้งในบางครั้งเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าตนเองเป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาหรือ ความผิดพลาดนั้นๆขึ้น แต่ก็กลับไม่ยอมรับความจริง ว่าตนผิดพลาดและควรเร่งพัฒนาศักยภาพของตน แต่กลับครุ่นคิดวกวนความผิดพลาดนั้นจนท้อแท้ และไม่เดินต่อไปยังจุดหมายที่ตั้งใจ
ทัศนคติดังกล่าวข้างต้น ทั้ง 6 ประการ ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างของทัศนคติที่ดี หรือแนวคิดเชิงบวกพื้นฐานต่อตนเอง และต่อสังคมรอบข้างที่อย่างน้อยทุกคนควรต้องมีและต้องพร้อมที่จะพัฒนาตนเองให้มีทัศนคติที่ดีด้านอื่นๆ ให้มีมากขึ้นตามลำดับต่อไป
ทัศนคติที่ดี ตอนที่ 2
แต่หากเราจะพิจารณากันให้ดีแล้วทัศนคติทั้งสามด้านของคนเรานั้น อาจแบ่งแยกโดยเอาตัวเราเป็นที่ตั้งได้อยู่ 2 ประการเท่านั้น คือ ทัศนคติต่อตนเอง และ ทัศนคติต่อคนอื่น สิ่งอื่นรอบข้าง ซึ่งทัศนคติทั้ง 2 ประการดังกล่าวของคนเรานั้นเป็นตัวขับเคลื่อนที่ก่อให้เกิดกระบวนการคิด การกระทำต่างๆตามมา ทั้งด้านที่ดีและไม่ดี ดังนั้นการที่เราจะสามารถดำเนินกิจกรรมใดๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใดนั้นส่วนสำคัญประการหนึ่งก็คือ ทัศนคติของตัวเราเอง นั่นเอง ที่เป็นปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญประการหนึ่ง ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า การมีทัศนคติที่ดี ก็เป็นปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดความสำเร็จในทางที่ดีเช่นกัน แต่การที่เรามีทัศนคติที่ดี หรือมีการพัฒนาไปสู่การมีทัศนคติที่ดีนั้น จะดำเนินไปอย่างไรเป็นอีกประการหนึ่งที่ทุกคนควรต้องมาพิจารณากัน ทัศนคติที่ดี หรือการคิดเชิงบวก (Positive Thinking) ทั้งในด้านตนเอง และในด้านบุคคลอื่นที่สำคัญนั้นมีอยู่หลายประการดังนี้
ประการที่1 การมีความเชื่อมั่นในตัวเอง
การมีความเชื่อมั่นในตัวเอง เป็นทัศนคติด้านบวกต่อตนเองว่า ตนเองมีศักยภาพในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ มากน้อยเพียงใด การมีความเชื่อมั่นในตัวเอง เป็นกรณีที่เราทุกคนควรมั่นใจว่าเรามีศักยภาพเพียงพอในการทำงานที่ได้รับมอบหมาย แต่ในความเป็นจริงคนเราทุกคนไม่สามารถที่จะรู้และเข้าใจดีในทุกเรื่อง แต่ถึงแม้ว่าสิ่งที่ได้รับมอบหมายให้ทำนั้นตนเองไม่มีความสามารถเฉพาะด้านนั้นเพียงพอ ก็ต้องมีควาเชื่อมั่นว่าตนเองสามารถฝึกฝน จนสามารถทำงานนั้นได้ดังนั้น ความเชื่อมั่นในตนเองในที่นี้จึงเป็นความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง และอีกทางหนึ่งก็คือ การเชื่อมั่นในการพัฒนาศักยภาพของตนเองด้วย
ประการที่ 2 การประเมินศักยภาพตัวเอง
การประเมินศักยภาพตัวเอง เป็นทัศนคติต่อตนเองในความคาดหวังถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการทำงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยความคาดหวังในที่นี้ต้องเป็นความคาดหวังที่มีพื้นฐานบนความรู้และความเข้าใจถึงศักยภาพที่แท้จริงของตนเอง บางครั้งผู้คนอาจคาดหวังถึงผลลัพธ์ที่สูงโดยขาดการพิจารณาถึงพื้นฐานของความเป็นจริง ทำให้เกิดความผิดหวังขึ้นได้ แต่ในทางกลับกันการคาดหวังต่ำโดยไม่พิจารณาถึงพื้นฐานของความเป็นจริง ไม่ว่าเกิดจากการขาดความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง การประเมินคุณค่าถึงศักยภาพของตนที่ต่ำ หรืออาจเกิดจากการที่ไม่อยากเผชิญกับความผิดหวัง ก็อาจทำให้ขาดแรงผลักดันที่จะทำงานนั้นให้เสร็จ และอาจทำให้ผลงานที่ออกมานั้นไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ดังนั้นทุกคนควรตระหนักไว้เสมอว่าคนเรามีศักยภาพในการพัฒนาตนเองเสมอ
ประการที่ 3 การยอมรับตนเอง และการให้เกียรติตัวเอง
การให้เกียรติตัวเอง หรือการยอมรับตัวเอง เป็นทัศนคติต่อตัวเองที่มีพื้นฐานร่วมมากับการมีความเชื่อมั่นในตนเอง และการประเมินศักยภาพของตนเอง คือคนเราเมื่อมีความเชื่อมั่นในตนเอง และสามารถประเมินศักยภาพของตนเองได้ ก็ต้องยอมรับผลที่ออกมาให้ได้ ไม่ว่าผลลัพธ์นั้นจะเป็นที่พอใจหรือไม่ก็ตาม เพราะอย่างไรก็ดีแม้ว่าผลที่ออกมาจะดี เราก็ไม่ควรยึดติดหรือหยุดอยู่กับที่ เพราะคนเราพัฒนากันได้ตลอดเวลา การหยุดอยู่กับที่ในขณะที่คนอื่นเดินไปข้างหน้านั้น ก็ไม่ต่างจากกับการเดินถอยหลัง แต่หากผลลัพธ์ที่ออกมาไม่น่าพอใจ เราก็ไม่ควรดูถูกตัวเอง หากแต่ต้องให้เกียรติตัวเอง และพร้อมที่จะพัฒนาตนต่อไปให้มีศักยภาพให้สูงขึ้น
ทัศนคติที่ดี ตอนที่ 1
บ่อยครั้งที่เราได้ยินผู้คนมักพูดว่ามีทัศนคติที่ดี หากมีใครกล่าวเช่นนี้ว่าเรามีทัศนคติที่ดี ประการแรกที่สามารถรู้สึกได้คือ เราได้รับคำชมเชยมากกว่าที่จะถูกตำหนิ การมีทัศนคติที่ดี โดยนัยของมันเองก็คงเป็นคนละด้านกับการมีทัศนคติที่แย่ หรือมีทัศนคติที่ไม่ดี ในการที่เราจะทำความเข้าใจ กับการมีทัศนคติที่ดี ซึ่งโดยลักษณะของตัวมันเอง เป็นนามธรรมที่จับต้องได้ยาก และอาจจะหาคำนิยามที่สามารถสรุปความหมายทุกนัยของการมีทัศนคติที่ดีได้
ดังนั้นในเบื้องต้นเราคงต้องมาพิจารณาถึงนิยามของคำว่า ทัศนคติ ว่าคืออะไร ส่วนที่ว่าทัศนคติที่ดีเป็นเช่นใดนั้น ค่อยพิจารณาในลำดับต่อไป
ในขั้นแรกของการทำความเข้าใจถึงทัศนคติที่ดีนั้น เราคงต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ทัศนคติคืออะไร ทัศนคติ เป็นคำสนธิระหว่าง ทัศน,ทัศน์ หรือ ทัสสนะ ซึ่งหมายความว่า ความเห็น ความเห็นด้วยปัญญา ส่วนคติ หมายความว่า แนวทาง
ดังนั้นคำว่า ทัศนคติ จึงน่าจะรวมความได้ว่า คือ แนวความคิดเห็นที่ประกอบด้วยปัญญาเป็นที่ตั้ง เป็นความคิดเห็นซึ่งมีพื้นมาจากปัญญา กล่าวคือ ใช้ปัญญาในการพิจารณาการเห็นนั้นเมื่อเราทราบว่า ทัศนคติ คือ แนวความคิดเห็น
หากจะพิจารณาดูให้ถี่ถ้วนแล้ว มนุษย์ทุกคนล้วนแต่ต้องมีทัศนคติ ตลอดเวลา ก่อนอื่นที่ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า ทัศนคติที่เรามีนั้นในที่นี้ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะสิ่งที่เราเรียกว่า ความเห็น หรือความคิดเห็นเท่านั้น หากแต่ความเห็น หรือความคิดเห็นตามที่เข้าใจในความหมายทั่วไปนั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเห็นซึ่งเิกิดขึ้นแล้ว ผ่านกระบวนการแสดงออกมาให้ผู้อื่นรับรู้ ว่าเราเห็นอย่างไร ไม่ว่าจะโดยผ่านกระบวนการของการพูด (วาจา) เขียน (ลายลักษณ์อักษร) หรือโดยอากัปกริยาอื่นใดเท่านั้น หากแต่การเห็นในที่นี้หมายถึง ไปทั้งกระบวนการคิดโดยไม่พิจารณาว่าสิ่งที่คิดนั้นจะได้แสดงออกมาภายนอก และ หรือมีผู้ใดรับรู้ถึงความเห็นดังกล่าว หรือไม่ ดังนั้น ความเห็นจึงเป็นเพียงผลพวงที่ออกมาจากการคิดเท่านั้น
ทีนี้เมื่อเราเข้าใจกันแล้วว่า ทัศนคติที่ดี คือ แนวความคิดเห็นที่ดี คือ แนวความคิดเห็นที่ดี ต่อมาจึงพิจารณากันต่อไปว่า แล้วทัศนคติของมนุษย์ที่ว่าทุกคนมีอยู่ตลอดเวลา โดยอาจแยกสิ่งที่มนุษย์มีทัศนคติออกได้ 3 ด้านดังนี้
ด้านที่1 มนุษย์ทุกคนมีัทัศนคติต่อบุคลิกภาพและการดำเนินไปของสังคม ทั้งตนเองและบุคคลอื่นเสมอ ทุกคนมีทัศนคติในการดำเนินชีวิต ทุกช่วงและทุกขั้นตอนของการดำเนินชีวิตของตน เช่น การเดิน การวิ่ง การโดยสารรถ การนอน การกิน การเสพบริโภควัตถุ
ด้านที่2 มนุษย์มีทัศนคติต่อการพิจารณา และควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกของตนเอง ทั้งโดยเหตุปัจจัยที่มาจากตนเอง และสังคมรอบข้างเสมอเช่น การโมโห การโกรธ ดีใจ เสียใจ ทุกข์ระทมใจ ปีติ ปราโมทย์ ทุกข์ใจ เหนื่อยใจ
ด้านที่3 มนุษย์มีทัศนคติต่อการคิดเห็น แสดงความคิดโดยผ่านกระบวนการคิดอย่างแยบคาย ทั้งในเรื่องของตนเอง และ เรื่องของสังคมรอบข้าง เช่น การแก้ปัญหา การแสดงความคิดเหตุ การคิดหาเหตุผล การตัดสินใจ การยอมแพ้ การปล่อยวาง
ทัศนคติหรือแนวความคิดเห็นในทั้งสามด้านนี้ อาจปรากฎออกมาในรูปแบบต่างๆโดยการผสานกันอยู่อย่างแยกออกจากกันแทบไม่ได้ หรืออาจอยู่แยกเป็นเอกเทศ จากกันเลยก็ได้ ในบางกรณี
คิดถึงบ้าน
ผมกำลังจะเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศสวีเดน เป็นเวลา 2 ปี
ผมเคยถามตัวเองหลายครั้งว่าผมจะเกิดอาการคิดถึงบ้านไหม คำตอบผมตอบไม่ได้ว่าจะคิดถึงบ้านหรือปล่าว แต่ผมตอบได้แน่นอนว่าผมคงคิดถึงทุกคนที่บ้าน หมาของผม มากกว่าบ้านของผม
ผมคิดว่าการคิดถึงบ้านในที่นี้ น่าจะหมายถึงการคิดถึง หรือโหยหาความรัก ความห่วงหา อาทรของคนที่เรารัก และคนที่รักเรา รวมไปถึงสัตว์เลี้ยงด้วยมากกว่า จากการที่เราได้รับโดยตรงจากทุกคนที่รักเรา แต่เราต้องห่างจากสิ่งเหล่านี้ไปโดยระยะทาง ย่อมคิดถึงหรืออยากได้รับสิ่งเหล่านี้อย่างแน่นอน
ดังนั้นเมื่อมีคนบอกผมว่า "เนี่ยะไปอยู่เมืองนอกแล้วจะรู้สึก ต้องคงคิดถึงบ้านแน่ๆ" ในใจผมก็เห็นด้วยครับ แต่ทำอย่างไรได้ คนเราทุกคนต้องจากกันทุกวันอยู่แล้ว เผลอๆ พรุ่งนี้เช้าขึ้นมาผมเกิดขี้เกียจไม่ยอมลุกขึ้นมาอีกดื้อๆ ก็จากกันเช่นกันโดยที่ยังไม่ได้ไปสวีเดนเลย
ดังนั้น คนเราน่ะต้องจากกันอยู่แล้ว หากแต่เพียงจะจากเป็นหรือจากตายเท่านั้น
มาถึงคำถามว่า แล้วเราจะรักษาอาการคิดถึงบ้านนี้อย่างไรล่ะ ผมตอบได้เลยนะครับว่าสิ่งที่จะรักษาความรู้สึกนี้ได้ก็มีอยู่สองอย่าง คือ ยอมรับ และปรับตัว
การยอมรับ คือเราต้องยอมรับการจากที่เกิดขึ้นนั้น ว่าคนเราทุกคนต้องจากสิ่งที่รัก สิ่งที่ชอบเสมอ แต่พึงระลึกไว้เสมอว่า การจากนั้นหาใช่ทำให้เราสูญเสียความรัก ความชอบนั้นไป เสียเมื่อไหร่ ความรัก ความชอบ ความเอาใจใส่ ความห่วงหาอาทร ความหวังดี เหล่านี้ยังคงอยู่เสมอไป ไม่ได้หายไปเพราะการจากกันโดยระยะทาง
การปรับตัว ตามความคิดผมก็คือ การจากนั้นทำให้เราต้องไปผจญหรือทำความคุ้นเคยกับสิ่งที่เราไม่เคยพบ ไม่เคยรู้ เพราะคนเราทุกคนชอบที่จะทำในสิ่งที่คุ้น พูดคุยกับคนที่คุ้นเคย เราทำกิจวัตรทุกอย่างเป็นประจำจนคุ้นเคย เมื่อสถานที่เปลี่ยน เวลาเปลี่ยน คนเปลี่ยน ความไม่คุ้นเคยเข้ามาแทนที่ การโหยหาถึงสิ่งที่คุ้นเคยเลยบังเกิด ดังนั้น เราจึงต้องจำเป็นสร้างความคุ้นเคยกับสิ่งใหม่ สร้างและปฏิบัติกิจวัตรใหม่ จนเคยชิน เราก็จะไม่เกิดความแปลกแยกอีกต่อไป
ดังนั้น คงพอจะตอบได้ว่า เมื่อมีพบก็ต้องมีพราก เมื่อมีจากก็ต้องมีเจอครับ
Saturday, 2 August 2008
Night Life
ในชีวิตผมก็เช่นกันผมได้เรียนรู้ชีวิตคนทั้งด้านที่เป็นมุมสว่างและมุมมืด
การเติบโตขึ้นมาในเมือง อยู่ใจกลางเมืองหลวงทำให้ผมได้รู้จักชีวิตในด้านสว่างและด้านมืดของคนมากมาย โนเฉพาะในช่วงเวลาที่ผมมีและใช้ชีวิตในยามกลางคืนอย่างคุ้มค่าเป็นเวลากว่า 4 ปี ผมได้ไปผับ และสถานบันเทิงมากมายในสมัยนั้น
- ยุคดอกตูม ผมรู้จักชีวิตกลางคืนครั้งแรกจากการการไปเที่ยวผับดังเมื่อสมัยปี 2537 ชื่อว่า The Capital อยู่แถวรัชดา หลังงานอำลาอาลัย เมื่อตอนจบมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ในสมัยนั้น Capital เป็นผับที่มี live band มาบรรเลงสด ผมไปครั้งแรกนั้นมีการแสดงคอนเสิร์ตของหนุ่ย อำพล ลำพูน ในอัลบั้มชุด ม้าเหล็ก
- ยุคแรกแย้ม ที่ผมมักแวะเวียนไปเสมอๆ เริ่มต้นเมื่อผมเข้าศึกษาต่อที่คณะนิติศาสตร์ มธ. แรกเริ่มตั้งแต่ปี 1 Sharky และ Taurus ที่ตีคู่กันมา เป็นแหล่งอโคจร ของวัยรุ่นในสมัยนั้น
- ยุคเบ่งบาน คือเมื่อผมขึ้นชั้นปีที่ 2 ต่อเนื่อง ปีที่ 3 เป็นยุคเฟื่องฟูของผับสำหรับวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็นแหล่งใหญ่ๆ อย่างสีสมซอยสี่ พัฒน์พงษ์ สุริวงศ์ ลานเบียร์ทุกที่ หรือสุทธิสาร หรือแหล่งเที่ยวของวัยรุ่นแห่งใหม่อย่าง RCA หรือ Royal City Avenue กลายเป็นสถานที่กบดานยามค่ำคืนของผมเสียรำไป
- ยุคโรยรา ด้วยเหตุแห่งการรู้ว่า พอแล้ว ผมจึงตัดสินใจที่จะหักดิบ การดื่ม การเที่ยว และชีวิตยามค่ำคืน โดยการตัดสินใจชั่วขณะ แต่ส่งผลในทางที่ดีแก่ชีวิตผม กระทั่งปัจจุบัน
กว่าสิบปีที่ผ่านมา ชีวิตของผมไม่ค่อยจะได้วนเวียนไปบรรจบกับถนนสายนี้สักเท่าไหร่ แต่ก็มีบางครั้งที่วนเวียนไปบ้าง ทั้ง Link 71 รัชดาซอยสี่ ระแวงเลียบทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ หรือผับแถวๆ รัชดา แต่ก็แค่การผ่านเข้าไป แล้วก็ต้องมาอย่างมีสติ รับรู้เท่านั้น
กระทั่งวันนี้ ผมก็ภูมิใจการการตัดสินใจหักดิบชีวิตกลางคืนในคืนนั้นของผมเสมอ เรื่อยมา
Friday, 1 August 2008
First Trip
จากที่ผมเคยบอกไว้นะครับว่า ด้วยเหตุที่ผมโตขึ้นมาโดยการอาศัยการดูแลระหว่างพี่ๆ น้องๆ ที่มาเรียนด้วยกันที่กรุงเทพฯ แต่อย่างไรก็ดี หลายคนอาจคิดว่าผมคงมีอิสระในการดำเนินชีวิต เพราะว่าไม่มีผู้ใหญ่มาควบคุม
แต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้เป็นไปอย่างนั้นหรอกครับ ตลอดเวลาที่ผมเดินทางมาศึกษาที่กรุงเทพฯ นั้น อาปากับอาม้า ไม่เคยปล่อยให้ผมเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดกับเพื่อนๆ เลย
สมัยที่เรียนมัธยม ที่เทพศิริทร์ ทุกภาคฤดูร้อนตอนปิดเทอมใหญ่ เพื่อนๆ มักชวนกันไปเที่ยวต่างจังหวัด แต่ผมไม่เคยได้ไปกับเขาหรอก เพราะผมต้องกลับบ้านไปช่วยเฝ้าร้าน ทำให้ไม่มีโอกาสไปเที่ยวกับเพื่อนๆ และอาปาอาม้าก็ไม่ค่อยปล่อยผมไปเที่ยวลำพังกับเพื่อนๆ หรอก เพราะว่าผมยังเด็กเกินไป
การเที่ยวกับเพื่อนๆ ครั้งแรกของผมคือ กรเดินทางลงใต้ หลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพื่อเดินทางไปยังที่เกาะไหง จังหวัดตรัง และหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2537 ถึง วันที่ 3 พฤษภาคม 2537
และหลังจากผมจบมัธยม อาปา อาม้าก็ให้อิสระในการเดินทางแก่ผมอย่างเต็มที่ แต่ท่านทั้งสองก็ยังคงห่วงผมอยู่ตลอดเวลานั่นเอง
ที่แหละครับที่เขาว่ากันว่า "ไม่ว่าเราจะโตเป็นผู้ใหญ่ อายุมากสักเท่าใด แต่เราก็ยังคงเป็นเด็กในสายตาของพ่อแม่เราเสมอ"